เฮ้อ ! หล่อดีอะไรก็ดี เสียได้ไม่ดีที่มีเมียแล้ว....ฮัมเพลงแล้วอะไรก็แล้วยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรดี ถามสหายแฟ้มบอกว่า พระอาจารย์แรกให้เขียนเกี่ยวกับ ท่านปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองไทย จะว่าไปแล้วก็ยากไม่ใช่เล่นเลยนะเนี้ยสำหรับการเขียนบทความสุดท้ายของวิชาเรียนปรัชญาสังคมและการเมือง
จะว่าไปแล้วคาบที่เรียนแล้วไม่ได้ไปเรียนเพราะติดไปนิเทศงานเพื่อนที่จังหวัดสระแก้ว เลยไม่รู้ว่าอาจารย์สอนอะไร (ซวยกรูเลย) ตามจริงเรื่องของท่านปรีดีก็มีผู้คนบ่นถึง เขียนถึงมากมายเพราะท่านเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ท่านมีความรู้ความสามารถมากมาย เป็นท่านนักวิชาการ นักกฎหมาย นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ฯลฯ จน UNESCO ได้ประกาศบรรจุชื่อ ท่านปรีดี พนมยงค์ ไว้ใน ประวัติบุคคลสำคัญของโลก ในปี ค.ศ.2000-2001
กลับมาเรื่องราวของท่านปรีดี วีรบุรุษประชาธิปไตย กันดีกว่า
การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองของไทยที่ท่านเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็มีหลายยุคหลายสมัยไม่ว่าตั้งแต่วางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตย เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯลฯ
เพราะอะไร เรามาติดตามกัน.....
ชีวประวัติท่านขอไม่กล่าวถึงแล้วกัน (อ้าว...แล้วกัน) แต่อาจจะกล่าวถึงในบางช่วงบางตอนเพราะเยอะมาก (เอ่อ...แล้วไป) และมีคนอื่นเขียนถึงไว้เยอะแล้วและสามารถติดตามได้จากวิกิพีเดียและเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์
ท่าน
สำหรับนายเสียงบิดาท่านปรีดีนั้นภายหลังแต่งงานกับนางลูกจันทน์แล้ว มีผู้แนะนำให้สมัครรับราชการเพราะมีพื้นฐานความรู้ทางหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาบาลีพอสมควร สามารถแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนได้ และมีฝีมือในศิลปะดนตรีไทย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ กล่าวได้ว่านายเสียงเป็นปัญญาชนนายทุนน้อยคนหนึ่งในยุคนั้น แต่นาย
แม้จะประสบความล้มเหลวนายเสียงก็ไม่ย่อท้อ ไม่ล้มเลิกอาชีพชาวนา ได้ไปหักร้างถางพงที่ว่างเปล่าในท้องที่ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในสมัยนั้นท้องที่บริเวณดังกล่าวมีช้างป่าจำนวนมาก นายเสียงต้องผจญกับช้างที่มารบกวนกินต้นข้าว ประกอบกับการทำนาไม่ได้ผล เพราะฝนแล้งบ้าง หรือบางปีมีน้ำท่วมมากบ้าง อีกทั้งมีเพลี้ยชุกชุมทำลายต้นข้าวเสียหาย เมื่อผลผลิตไม่ดี นายเสียงก็ไม่มีรายได้จากการขายข้าว มิหนำซ้ำ ต่อมาบริษัทขุดคลองคูนาสยามซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทำการขุดคลอง ได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินของนายเสียง และเรียกเก็บ "ค่ากรอกนา" หรือค่าขุดคลองจากนายเสียงในอัตราไร่ละ 4 บาท นายเสียงไม่มีเงินพอจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ทำให้นายเสียงซึ่งมีหนี้สินอยู่ก่อนแล้วกลับมีหนี้สินท่วมท้นมากขึ้น ฐานะของนายเสียงได้เปลี่ยนจากนายทุนน้อยในเมืองมาเป็นชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบท มีความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสนเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งโครงการชลประทานป่าสักใต้ของรัฐบาลได้ขยายไปถึงบริเวณที่นาของนายเสียงจึงทำให้ผลผลิตข้าวดีขึ้น ช่วยพยุงให้นายเสียงกลับฟื้นเป็นชาวนา "ผู้มีอันจะกิน" ในเวลาต่อมา
ท่านปรีดีเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พอเริ่มจำความได้ก็ได้รับรู้และได้รับผลกระทบจากความผันผวนในชีวิตของบิดามารดาซึ่งประสบชะตากรรมอย่างชาวนาทั่วไปในชนบทภาคกลางสมัยนั้น การถือกำเนิดในครอบครัวชาวนานี้เอง เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมเบื้องแรกที่ฟูมฟักให้ท่านปรีดีมีจิตสำนึกเห็นอกเห็นใจคนยากจน และอาจกล่าวได้ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้น หรือ แรงผลักดันที่สำคัญที่ก่อให้เกิด แผนพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง ที่ถูกมองว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมานั่นเอง
ช่วงวัยเด็ก ที่จะเริ่มต้น หรือเป็นช่วงต่อ หรือ ส่งผ่านเข้าสู่วัยของการศึกษาของท่านปรีดี พนมยงค์ ช่วงนั้นสยามกำลังอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน กล่าวคือ ลัทธิล่าอาณานิคมกำลังคืบคลานเข้ามารอบด้าน สยามได้สูญเสียเอกราชทางการค้าจากการถูกบังคับเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง สูญเสียดินแดนบางส่วน ตลอดจนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อาชีพชาวนานั้นประกอบไปด้วยความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างยิ่ง ได้เรียนโรงเรียนประถม(โรงเรียนวัดศาลาปูน)ในอำเภอกรุงเก่านั้นเอง เห็นเพื่อนชาวจีนตัดหางเปียทิ้ง และได้รับคำอธิบายว่าที่เมืองจีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2454 การตัดหางเปียเป็นสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ และมีอารยะทัดเทียมชาวตะวันตก ครูที่โรงเรียนก็เล่าเพิ่มเติมว่า ในโลกนี้ เหลือเพียง จีน รัสเซีย และสยาม เท่านั้น ที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ และล้วนแต่เป็นประเทศล้าหลัง
แต่ขณะนั้นระบอบนี้ในจีนได้ถูกล้มล้างไปแล้ว หลังจากจบมัธยมต้นโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก่อนจะกลับมาช่วยที่บ้านทำนาเป็นเวลาหนึ่งปี และกลับไปเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ระหว่างนั้นมีเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ที่นายทหารกลุ่มหนึ่งเตรียมยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ความลับรั่วไหล จึงถูกจับเสียก่อน ถัดมาอีกปีก็มีเหตุการณ์กลุ่มบอลเชวิคได้ยึดอำนาจจากพระเจ้าซาร์ในรัสเซีย ระหว่างที่ศึกษาวิชากฎหมายอยู่นี้ ท่านปรีดีพบว่ากฎหมายหลายฉบับที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขต ที่ให้สิทธิชาวต่างชาติเหนือชาวสยาม หรือกฎหมายที่ปฏิบัติกับเจ้าและไพร่แตกต่างกัน พร้อมกันนั้นก็ได้ศึกษา ติดตามความเป็นไปเกี่ยวกับบ้านเมือง และตั้งปณิธานว่าจะก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ แม้ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม
ในปีพ.ศ. 2462 จึงสอบไล่ได้เนติบัณฑิต แต่เนื่องจากอายุยังน้อย คือ 19 ปี จึงยังไม่ได้เป็นผู้พิพากษา ปีรุ่งขึ้นจึงได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา และสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเข้าศึกษาที่ มหาวิทยาลัยก็อง (Univesite de Caen) และศึกษาพิเศษจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐเป็น "บาเชอลิเอร์" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซองซิเอ" กฎหมาย (Licencie en Droit) ซึ่งในยุคนั้นอบอวลไปด้วยแนวคิดทฤษฎีการเมืองแบบใหม่ นักปฏิวัติหรือนักคิดทั้งหลายล้วนเคยมาใช้ชีวิตอยู่ในปารีสช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซ์ เลนิน เองเกลส์ เติ้งเสี่ยวผิง โจวเอินไหล โฮจิมินห์ เป็นต้น
เมื่อ พ.ศ. 2469 ท่านปรีดีก็สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) ระดับปริญญาเอก และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplome d’Etudes Superieures d’Economic Politique) จากมหาวิทยาลัยปารีส ได้ปริญญารัฐเป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย"(Docteur en Droit) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาต่อจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส
จากภูมิหลังด้านการศึกษาของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวมาแล้วนั้นชี้ให้เราเห็นถึงความสามารถ และความพยายามในการศึกษาเป็นอย่างมาก แต่ที่เหนือกว่านั้นแล้ว สิ่งที่เกิดหรือเป็นผลจากการศึกษาดังกล่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ เอง กล่าวคือ ทำให้เขาสามารถมีความคิดที่กว้างขวางรอบด้านขึ้นทั้งยังเป็นสถานที่ หรือ สังคม ที่หล่อหลอมให้ท่านปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดริเริ่มในเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพื่อความก้าวหน้า หรือเพื่อสิ่งที่ดีกว่า จะเห็นได้จากเริ่มมีการประชุมกันในฝรั่งเศสเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ความคิดพื้นฐานด้านสังคม หรือ รูปแบบของสังคมในอุดมคติของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นอาจถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ยึดติด หรือ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเรื่อง โลกพระศรีอาริย์ เป็นอย่างมากกล่าวคือ สังคมพุทธในสยามให้ความสำคัญกับโลกพระศรีอาริย์มาก แม้ว่าจะเป็นโลกอุดมคติแบบจินตนาการก็ตาม สมัยก่อนเวลาพระภิกษุจะแสดงพระธรรมเทศนาทุกครั้ง ท่านจะต้องบอกศักราชว่าอีกกี่ปีจึงจะเข้าสู่ยุคศาสนาพระศรีอาริย์ชาวพุทธเมื่อทำบุญก็ตั้งปรารถนาให้ได้พบโลกพระศรีอาริย์ แม้เวลาสาบานในโรงศาล แต่ก่อนก็ยังกล่าวว่าถ้าให้การตามความเป็นจริงแล้วก็จะพบศาสนาพระศรีอาริย์ และในกฎหมายตราสามดวงของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยังบัญญัติให้ชาวสยามทุกคนบำเพ็ญศีล เพื่อจะได้เห็นพระศรีอาริย์
อย่างไรก็ตาม โลกพระศรีอาริย์ที่ชาวพุทธสยามทั่วไปเข้าใจกันนั้น คือโลกอุดมคติที่รออยู่ในชาติหน้าเมื่อพุทธศาสนายุกาลผ่านไปแล้ว 5000 ปี แต่สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์นั้น โลกพระศรีอาริย์นั้นเป็นสังคมอุดมคติที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงได้ในยุคปัจจุบันด้วยสติปัญญาและความเพียรพยายามของมนุษย์เอง
ความทรงจำ หรือ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกพระศรีอาริย์ของท่านปรีดี พนมยงค์นั้นมีอยู่ว่า "นับตั้งแต่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กมีความจำได้ก็ได้ยินพระภิกษุสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังและอ้างถึงบ่อย ๆ ว่ามี ‘พุทธทำนาย’ ไว้ว่า ในปลายพุทธศาสนายุกาล มนุษยชาติจะเข้าสู่มิคสัญญีเพราะศีลธรรมเสื่อมทรามลง จึงมีแต่การรบราฆ่าฟันและเบียดเบียนกัน สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้น... ไฟบรรลัยกัลป์จะล้างโลกที่โสมม ครั้นแล้วยุคใหม่คือ ‘ยุคศรีอารยเมตไตรย’ ก็จะอุบัติขึ้นในยุคใหม่มนุษยชาติจะอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปราณีระหว่างกัน บุคคลจะเสมอเหมือนกัน... ความสะดวกสบายในการคมนาคมและความอุดมสมบูรณ์ของชีวะปัจจัยก็หลั่งไหลเหลือคณานับประดุจว่ามีต้นกัลปพฤกษ์ทุกมุมเมือง ซึ่งมนุษย์อาจถือเอาได้ตามความต้องการ" (ปรีดี พนมยงค์ : ความเป็นอนิจจังของสังคม หนังสือที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)ได้ให้ความสนใจในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่สมัย เมื่อยังเป็นสามเณร ( ๑๙ มิ.ย. ๒๕๐๑) อันเป็นแรงดลใจ จากการอ่านหนังสือเล่มนี้)
ซึ่งไม่อาจละเลยได้ว่าจินตนาการโลกพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นยูโทเปียแบบพุทธ นั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านปรีดีกล้าเอาชีวิตเข้าแลกทำการเปลี่ยนแปลงสังคมเก่าไปสู่สังคมใหม่ที่ผู้คนมีความเท่าเทียมกันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเสมือนโลกพระศรีอาริย์ที่สามารถเข้าถึงได้ในพุทธศตวรรษนี้ แรงบันดาลใจในวัยเด็กดังกล่าว แสดงออกอย่างชัดเจนในตอนท้ายของ "คำประกาศของคณะราษฎร" ฉบับที่ 1 ซึ่งแถลงในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ว่า "สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนา คือ ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอาริยะ นั้นก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรถ้วนหน้า" นั่นเอง
อันที่จริงแล้ว โลกพระศรีอาริย์ คือภาพสัญลักษณ์ของสังคมอุดมคติ ที่ท่านปรีดีใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งได้แปรมาเป็นรูปธรรมตามที่เสนอไว้อย่างเป็นวิชาการใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ (หรือสมุดปกเหลือง) เมื่อเดือนมีนาคม 2476 ซึ่งเป็นร่างแผนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของไทย ได้กล่าวถึงอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์โลกพระศรีอาริย์อีกครั้งในตอนท้ายสมุดปกเหลือง เพื่อย้ำเตือนเพื่อน "ผู้ก่อการ" ต้องมิให้หลงลืมสัญญาประชาคม ที่จะนำราษฎรไปสู่ความสุขสมบูรณ์นั่นเอง
นอกจากนี้แล้วความคิดเกี่ยวกับโลกพระศรีอาริย์ ของท่านปรีดี พนมยงค์นี้นั้นยังได้ส่งผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจของด้วย กล่าวคือ แม้ว่าหากเราพิจารณาในเบื้องต้นนั้นจะเห็นได้ว่า แนวทางเศรษฐกิจสังคมที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เสนอไว้ในสมุดปกเหลือง จะเป็นสังคมนิยมแนวตะวันตกแต่ก็อาศัยหลักธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันของชาวพุทธเป็นพื้นฐาน อันได้แก่หลัก สาราณียธรรม ซึ่งประกอบด้วย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน และหลักสาธารณโภคี คือการเฉลี่ยแบ่งปันเศรษฐทรัพย์และโภคทรัพย์ให้ได้ใช้สอยภายในชุมชนอย่างเท่าเทียมกัน
สิ่งที่กล่าวมาดังกล่าวนี้นั้นอาจกล่าวให้เห็นถึงบริบท (Context) ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการเปลี่ยนแปลง และความคิดทางการเมืองด้านอื่น ๆ ของท่านปรีดี พนมยงค์ ได้พอเข้าใจ และทราบถึงสาเหตุความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ ได้บ้างพอสมควร นอกจากนั้นแล้วคงพอให้สามารถรู้ถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายของความคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อการหลุดพ้นจากกรอบการตีความของรัฐไทยที่ผิดพลาดต่อแนวคิดต่าง ๆ ของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นบุคคลที่ก่อคุณประโยชน์อย่างมากมายหลายด้านต่อสังคมไทย รวมทั้งได้สร้างแนวคิดที่มีประโยชน์หลายอย่าง หลายแนวทางในสังคมไทย
ภาคกำเนิดอุดมการณ์เพื่อสังคมของท่านปรีดี พนมยงค์
หากพิจารณาบริบทความคิดความเชื่อในสังคมไทย ซึ่งนับถือศาสนาพุทธก็จะเห็นความเชื่อมต่อกันได้ไม่อยากเช่นกัน ในเรื่องของความเมตตากรุณาระหว่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความคิดในการอนุเคราะห์กันนั้นเป็นเพียงความคิดตะวันตกฝ่ายเดียว หากประเด็นหน้าสนใจอยู่ที่ว่า การปฏิวัติทางสังคมและการเมืองในยุคสมัยใหม่ในตะวันตกได้ประสานและนำเอาความคิดทางจริยธรรมและศาสนาเข้ามาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของความคิดทางการเมืองและสังคม รวมทั้งทางกฎหมายด้วยอย่างมีพลังและความเป็นจริง
หากมองในแนวคิดหรืออุดมการณ์ของท่านปรีดี พนมยงค์ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายมีอยู่มากมาย แต่ลักษณะเด่นของความคิดทางการเมืองในช่วงแรกของท่านปรีดี พนมยงค์ได้แก่ การค้นพบบุคคลหรือปัจเจกชนในสังคม อันนำไปสู่การเสนอมโนทัศน์ใหม่ทางการเมืองต่อมา ด้วยการให้สำคัญกับราษฎรในฐานะที่เป็นมนุษย์ เทียบเคียงเสมือนกับชนชั้นสูงในเรื่องกฎหมายแห่งสิทธิและเสรีภาพในระบบประชาธิปไตย พื้นฐานของความเป็นบุคคลสมัยใหม่
ในความคิดของท่านปรีดี ก่อนปฏิวัติพ.ศ.2475 ไม่ได้เข้าไปในวังวนของอำนาจรัฐ แม้จะมีตำแหน่งหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรม แต่ยังถือว่าอยู่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจ
แนวคิดทางการเมืองและสังคมของท่านค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางราษฎรและฝ่ายที่เสียเปรียบ เรียกว่ามีจุดยืนที่เป็นความยุติธรรมของคนชั้นล่างตั้งแต่ต้น ตัวอย่าง การรับเป็นทนายความให้กับ นายลิ่มซุ่มหงวน ในคดี "พลาติสัย" พ.ศ.2463 คณะนั้นท่านปรีดีกำลังเรียนกฎหมายอยู่ อายุเพียง 19 ปี และยังไม่เคยว่าความคดีมาก่อนเลย คดีพลาติสัยมีอยู่ว่า เรือโป๊ะของนายลิ่มหงวน จำเลยถูกพายุพัดไปโดนพลับพลา สถานที่ของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเสียหายไปเป็นราคา 600 บาท การสู้คดีนั้นในศาลชั้นต้นอัยการโจทก์เป็นผู้ชนะ หลังจากที่ท่านปรีดีได้ยกข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งศาลอุธรณ์และศาลฎีกาก็พิจารณาเห็นต้องกันให้ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ชนะคดีไปในที่สุด ข้อกฎหมายอันสำคัญที่ปรีดีใช้ในการอุธรณ์และสร้างความยุติธรรมขึ้นมาได้แก่ หลักคิดเรื่อง "ภัยนอกอำนาจ" ซึ่งท่านได้มาจากกฎหมายตราสามดวง อันเป็นกฎหมายเก่ามาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คดีพลาติสัยให้แง่คิดแก่ประวัติความคิดทางการเมืองได้เหมือนแสดงให้เห็นว่าก่อนก่อนที่จะมีการร่างและประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในปี พ.ศ.2470 นั้นในทางความคิดทางสังคมยังไม่มีสภาวะที่เรียกว่า "เหตุสุดวิสัย" อันเป็น "เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลต้องประสบฤาใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร
ปมเงื่อนไขที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ได้แก่ บุคคลหรือปัจเจกบุคคลในสังคมที่มีความรับผิดชอบและมีความเป็นเหตุผลในการกระทำของตน ยังไม่มีดำรงอยู่ในสังคมสยาม คนเช่นนี้จะมีได้ก็ต้องมีความเป็นอิสระและมีเสรีภาพในตัวเอง มโนทัศน์เรื่องปัจเจกธรรม (individuality) จึงยังไม่เกิดขึ้นมา สภาพในทางชีวิตทางสังคมของราษฎรไทยยังจำกัดและขึ้นอยู่กับภาวการณ์ภายนอกตัวเองอย่างมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับระบบอุปถัมภ์และพึ่งพาในระบบศักดินาเป็นอย่างดี แนวคิดภัยนอกอำนาจดังกล่าวเป็นวิธีคิดและให้เหตุผลอย่างใหม่ ตรงที่ว่าให้น้ำหนักและความสนใจไปที่บุคคลเป็นสำคัญขณะที่แนวคิดและตัวบทกฎหมายเก่าของไทยนั้น ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ภัย 4ประการหรือในศัพท์ของปรีดีว่า"ภัยนอกอำนาจ" อันได้แก่ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย
ท่านปรีดีอธิบายในคำอธิบายประมวลแพ่งและพาณิชย์อย่างดีว่าเป็นสิ่งที่บุคคลไม่อาจป้องกันให้เกิดขึ้นได้แม้จะได้ระมัดระวังป้องกันแล้วก็ตาม
อาจารย์
คำว่า "พลาติสัย" มีความหมายว่า "มีกำลังยิ่ง"ซึ่งสอดคล้องกับความคิดทางการเมืองไทยเดิม ที่อธิบายการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างคนในรัฐด้วยจุดยืนและทรรศนะของผู้ปกครองเป็นสำคัญ เพราะจุดหมายของรัฐพุทธทัศน์นั้นอยู่ที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุขของส่วนรวม โดยวางอยู่บนเงื่อนไขของคุณสมบัติของผู้ปกครองเท่านั้น หลักการของการปกครองสำคัญจึงแสดงออกที่ธรรมของผู้ปกครอง ไม่ใช่ที่กำลังหรืออำนาจอะไรของราษฎรผู้อยู่ใต้การปกครอง ส่วนหลังนี้ต่างหากที่ต้องถูกควบคุมและสั่งสอนโดยผู้ปกครองอยู่เป็นนิตย์ อุดมการณ์รัฐและสังคมดังกล่าวจึงไม่อาจรองรับมโนทัศน์นอกอำนาจได้
เข้าใจว่าศัพท์ "ภัยนอกอำนาจ" จะเป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ของท่านปรีดีเองหรือมีใช้อยู่ในสมัยนั้นก็ได้ จุดเด่นของท่านปรีดีคือการที่ท่านนำเอาวลีนี้ไปอิงกับหลักคิดในกฎหมายตราสามดวง สร้างความต่อเนื่องกับกฎหมายเก่าขึ้นมา แม้ "ภัยนอกอำนาจ" ที่ว่านี้หมายถึงนอกอำนาจของบุคคล ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาบุคคลยังไม่มีฐานะอันเป็นอิสระของตัวเองได้
เป็นการสร้างความต่อเนื่องระดับหนึ่งของแนวความคิดทางกฎหมายไทยจากกฎหมายเก่าสู่กฎหมายสมัยใหม่ ซึ่งการสร้างเอกภาพและความต่อเนื่องให้กับระเบียบสังคมใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง จะเป็นลักษณะเด่นในความคิดทางการเมืองและสังคมของท่านปรีดี พนมยงค์
พิจารณาในด้านประวัติภูมิปัญญาของสังคมไทย ความสำคัญของการเกิดมโนทัศน์ "ภัยนอกอำนาจ" คือการที่ส่วนหนึ่งของสังคมสยามขณะนั้น เริ่มตระหนักและรู้สึกถึงความสำคัญของบุคคลหรือปัจเจกบุคคลไม่ใช่เพียงการเป็นมนุษย์ และดำรงชีวิตอย่างมีศีลธรรมตามคำสั่งสอนในศาสนาที่แต่ละคนเชื่อถือ และปฏิบัติตนยึดถือคำสั่งของรัฐเป็นสรณะ จนทำให้การพัฒนาของบุคคลไม่อาจเกิดขึ้นมาได้นอกระบบราชการ เป็นภาวะของการทำให้คนต้องพึ่งพิงและอาศัยผู้เป็นใหญ่อยู่ร่ำไป ในขณะที่ผู้เป็นใหญ่ก็จำต้องหาและสร้างสมอำนาจบารมีให้มากขึ้นไปเรื่อยเพื่อช่วยเหลือแจกจ่ายให้กับผู้อยู่ใต้การปกครองและดูแลอุปถัมภ์ตลอดเวลา หากแต่เป็นความพยายามที่จะยกระดับให้คนข้างล่างได้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายของระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคมได้ด้วย โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับและร้องขออย่างไม่มีบทบาทและฐานะที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองบ้างเลย
ข้อคิดอีกประการหนึ่งคือ การนำเอามโนทัศน์ภัยนอกอำนาจมาใช้ในกฎหมายไทยนั้นเป็นการควบคุมและกำกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เนื่องจากปัจเจกบุคคลเองก็เป็นผลิตผลและผู้ดำรงรักษาระบบทุนนิยมสมัยใหม่
การเกิดและใช้มโนทัศน์เช่น ภัยนอกอำนาจ นั้น ในสภาพสังคมที่ราษฎรส่วนใหญ่ยังเป็นชาวนา มีฐานะกึ่งไพร่กึ่งทาส สถาบันทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนความเป็นเสรีชนและเป็นอิสระจากการพึ่งพาไม่ว่าผู้มีอำนาจหรือธรรมชาติก็ตาม ยังล้าหลังหรือไม่ได้พัฒนาขึ้นมา จึงไม่อาจก่อรูปเป็นความจริงทางสังคมขึ้นได้ ความขัดแย้งดังกล่าวมีส่วนทำให้หรือไม่ ก็เป็นผลมาจากการที่สถาบันกฎหมายและระบบยุติธรรมไทยขาดการพัฒนาทางปรัชญาที่เป็นของตัวเองอย่างแท้จริง
รัฐธรรมนูญกับความคิดทางการเมืองไทยของท่านปรีดี พนมยงค์
รัฐธรรมนูญกับความคิดทางการเมืองของท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถือได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทยที่กล่าวเช่นนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากว่าในวันดังกล่าวนั้นได้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเป็นฉบับแรกของไทย ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยบุคคลที่ทำการร่างฉบับดังกล่าวนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดบุคคลหนึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์
จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะพบว่าสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดประชาธิปไตยของท่านปรีดี โดยเฉพาะความต้องการที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองให้กลายมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบบรัฐสภา เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของประชาชนอันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง การยอมรับความเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน เห็นได้จาบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475
ดังขอยกตัวอย่าง เช่น การมีบทบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งในระบอบเดิมนั้นอำนาจสูงสุดอยู่ที่บุคคลเพียงคนเดียว นั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ โดยระบอบใหม่นี้ได้เปลี่ยนให้อำนาจมาอยู่กับคนหลายคน โดยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้ากำหนดรูปแบบแห่งการปกครองไม่ให้พระมหากษัตริย์อยู่กับความประสงค์ของพระองค์อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหากจะกล่าวว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อการอภิวัติการปกครอง สร้างรัฐธรรมนูญก็คงจะไม่ผิดอะไรมากนัก
นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนแนวคิดประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ อย่างดีก็สามารถศึกษาได้จากข้อปฎิญาณตนของคณะราษฎรก่อนที่จะเข้ารับอำนาจภายใต้การเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี โดยปรากฏในรายละเอียด 6 ข้อดังต่อไปนี้
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ทางศาล ทางเศรษฐกิจของประทศให้มั่นคง
2. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ คือรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกๆคนทำจะวางเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
3. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้มีการประทุษร้ายต่อกันให้น้อยลงให้มาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน
5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพอย่างเป็นอิสระ
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ดังนั้น จะเห็นแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นอย่างดี เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นมานั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งขึ้นด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่าแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ที่ปรากฏในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจหรือรัฐธรรมนูญก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าท่านปรีดีพนมยงค์ มีแนวคิดแบบประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการหรือคอมมิวนิสต์อย่างที่กล่าวหากันและจากการที่ทำเพื่อประเทศชาติ ตามอุดมการณ์เสรีของท่าน โดยมุ่งหวังเพื่อประโยชน์ของชาติ จึงทำให้ท่านต้องถูกกำจัดจากศัตรูทางสังคมการเมืองไทย และนี้หรือคือคนดีที่ทั้งเมืองไทยไม่ต้องการผู้มีนามว่า "ปรีดี พนมยงค์"
ในช่วงปัจฉิมวัยนั้น ท่านปรีดีได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า ในปี 2475 ข้าพเจ้าอายุได้ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ และ ในปี 2468 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปี เท่านั้น หนุ่มมากทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ไม่มีอะไรไปมากกว่าทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าจึงเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากตามที่ข้าพเจ้าควรจะมี
สรุปบทบาทของท่านปรีดีต่อสังคมไทย ปรากฏให้เห็นเด่นชัดในหลายๆ ด้าน อาทิ
1.ด้านกฎหมาย นายปรีดี เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในหลายลักษณะและมีบทบาทในการร่างกฎหมายหลายฉบับ
2.ด้านการเมือง การปกครอง นายปรีดีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และดำเนินนโยบายของประเทศให้บรรลุหลัก 6 ประการ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
3.ด้านเศรษฐกิจ นายปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มีวัตถุประสงค์ในการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
4.ด้านการศึกษา นายปรีดีได้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเป็นสถานที่ให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้รับการศึกษา
5.ด้านความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบุรุษอาวุโส
6.ด้านความเป็นเอกราชของชาติ นายปรีดีได้ริเริ่มขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น และเป็นหัวหน้าเสรีไทยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการแพ้สงคราม
จากบทบาทที่สำคัญของนายปรีดีดังกล่าว ทำให้องค์การยูเนสโก้(UNESCO)ได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ใน พ.ศ. 2543
ประวัติชีวิตที่ผกผันและทรงคุณค่าของท่านปรีดี พนมยงค์ น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับผู้ทรงอำนาจทางการเมืองทั้งหลายในปัจจุบันให้ตระหนักว่า
อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งที่มาแล้วก็ผ่านไป แต่คุณค่าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์และการดำรงฐานะอันเป็นที่เคารพรักและยกย่องเชิดชูของคนในยุคสมัยต่อๆ มานั้น อยู่ที่การอุทิศตนให้แก่สังคมไทยด้วยความวิริยะอุตสาหะ ความซื่อสัตย์สุจริต และความเสียสละ อีกทั้งความปรารถนาดีอย่างแท้จริงแก่ประเทศชาติและประชาชนไทยเท่านั้น
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้
ถึงแม้ว่าจะยาวไปซะหน่อยแต่ท่านก็สามารถได้รู้อะไรๆดีๆเกี่ยวกับท่านปรีดีซึ่งเป็น
"บุคคลที่โลกไม่ลืม"